วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2554

                                                      หัวใจของสารคดี


1สารคดีเป็นบันเทิงคดี
หัวใจของงานสารคดีของผม ข้อแรกเลย สารคดีเป็นบันเทิงคดีครับ ผมเปรียบหัวใจสารคดีเหมือนหัวใจของคนเราครับ  หัวใจของคนเรามี 4 ห้อง ห้องแรกเลยผมถือว่าเป็นห้องที่สำคัญมากก็คือ เวลาเขียนสารคดี ทำสารคดีทีวีหรือแม้แต่เขียนสคริปต์รายการสารคดีทางวิทยุ โทรทัศน์ เขียนบทความสารคดีอะไรก็แล้วแต่ เราจะยึดหัวใจข้อนี้ก็คือ สารคดีเป็นบันเทิงคดี นั่นหมายความว่าต้องอ่านสนุก ดูสนุก
  2นำเสนอข้อมูลที่เป็นจริง    
แต่ว่าอย่าลืมนะว่า หัวใจห้องที่ 2 ของสารคดีคือ  ต้องนำเสนอข้อมูลหรือข้อเท็จจริง เราไม่สามารถแต่งเรื่องสารคดีเองขึ้นมาได้ เราไม่สามารถแต่งเรื่องตาดผาส้วมขึ้นมาได้ เราไม่สามารถแต่งเรื่องเจ้าแม่กาลีขึ้นมาเองได้ จะต้องนำเสนอสิ่งที่เป็นความจริงหรือที่เรียกว่า fact นะครับ เป็นบันเทิงคดีที่นำเสนอข้อมูล ก็คือพูดง่ายๆ ว่าเป็น ความรู้คู่ความบันเทิง ซึ่ง ปัจจุบันนี้เขามีภาษาอังกฤษที่บัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่ คือ edutainment /edu ก็มาจาก education ซึ่งแปลว่า ความรู้ การศึกษาอะไรพวกนี้นะครับ tainment ก็มาจาก entertainment ซึ่งแปลว่าความ บันเทิง ก็กลายเป็นสาระความรู้คู่ความบันเทิง
     หัวใจห้องที่1 สารคดีเป็นบันเทิงคดี แต่อย่าลืมว่าสารคดีเป็นการนำเสนอข้อมูลหรือข้อเท็จจริง ไม่สามารถแต่งขึ้นมาเองได้ นี่เป็นหัวใจห้องที่ 2
 
3 นำเสนออย่างสร้างสรรค์
หัวใจห้องที่ 3 ของสารคดีก็คือไม่มีใครบอกว่าสารคดีต้องเอาข้อมูลที่เราได้มา สมมุติเราค้นเอกสาร เป็นเอกสารทางวิชาการ แล้วเอาข้อมูลใส่เข้าไปในสารคดีของเราทั้งดุ้นเลย ลอกมาใส่เลยในบทความ ในสคริปต์ของเรา ไม่ใช่นะครับ ผมคิดว่าสารคดีจะต้องผ่านกระบวนการนำเสนออย่างสร้างสรรค์ หรือต้องผ่านศิลปะในการนำเสนอ คือต้องเอาข้อมูล ข้อเท็จจริงนั้น มาใส่ในเครื่องจักรกลในสมองของเรา เพื่อที่จะแปลเอาข้อมูลที่ยาก เข้าใจยาก ที่น่าเบื่อหรือแข็งท่อ ให้ดูมีชีวิตชีวาหรือความสนุกสนาน ต้องมีลีลาลูกเล่นในการนำเสนอ ซึ่งหมายถึงจะขึ้นต้นเรื่องยังไง จะร้อยเรียงเรื่องราวยังไง จึงจะชวนอ่าน ชวนดู ชวนติดตามไม่น่าเบื่อ นี่เป็นหัวใจห้องที่ 3

4 ใช้รูปธรรมอธิบายนามธรรม  
ส่วนหัวใจห้องที่ไม่ใช่เป็นทฤษฎีก็แล้วกันนะครับ แต่เป็นกฎเกณฑ์ที่ผมจับขึ้นมาจากประสบการณ์ในการทำงานสารคดี ก็คือ หัวใจห้องที่ 4 ใช้รูปธรรมที่จับต้องได้ ในการอธิบายนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ หรือพูดง่ายๆ ว่า อ.มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ ศิลปินแห่งชาติและปราชญ์ของเราเคยใช้คำบอกว่า เมื่อจะเขียนอะไรก็ตาม อย่าเพียงแต่เล่า จงสำแดงให้เป็นที่ประจักษ์ อย่าเพียงแต่เล่าเฉยๆ อย่าเพียงแต่เล่าว่า โอ-มันสวยเหลือเกิน น่าสนุก น่าตื่นเต้นเหลือเกิน แต่แสดงออกมาให้เห็นเลยว่า สวย-มันสวยยังไง สนุก-มันสนุกยังไง ตื่นเต้น-มันตื่นเต้นยังไง ก็คือ ใช้รูปธรรมที่จับต้องได้มาอธิบายนามธรรมที่ยากๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น