ลักษณะของกฎหมาย
จากความหมายดังกล่าว สามารถแยกลักษณะของกฎหมายออกได้เป็น 5 ประการด้วยกันคือ
1) กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับ
คำสั่งหรือข้อบังคับหมายถึงการแสดงออกซึ่งความประสงค์ของผู้มีอำนาจในลักษณะเป็นการบังคับให้บุคคลอีกคนหนึ่งกระทำการหรืองดเว้นกระทำการไม่ใช่การประกาศเชิญชวนเฉยๆ เช่นถ้าหากรัฐบาลเชิญชวนให้ประชาชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือให้ประชาชนใช้สินค้าที่ผลิตขึ้นในประเทศเพื่อเป็นการสงวนเงินตราต่างประเทศไว้ลักษณะเป็นการเชิญชวน ไม่ใช่ลักษณะคำสั่งหรือข้อบังคับ ก็จะไม่ใช่เป็นกฎหมายไปกฎหมายมีลักษณะที่สั่งให้กระทำ เช่น ห้ามกระทำ หรืออาจจะให้กระทำก็ได้ เช่นห้ามฆ่าคนห้ามลักทรัพย์ห้ามข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น
2) กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่มาจากรัฐาธิปัตย์
คำว่ารัฐาธิปัตย์ มาจากคำว่า รัฐาอธิปัตย์ ซึ่งแปลว่าผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศกฎหมายจะต้องมาจากผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการปกครองในระบบใดก็แล้วแต่ ถ้าเป็นการปกครองในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระบรมราชโองการหรือคำสั่งของพระมหากษัตริย์ก็จะเป็นกฎหมาย เพราะมาจากอำนาจสูงสุด ถ้าเป็นการปกครองในระบบเผด็จการที่มีการปฏิวัติรัฐประหาร มีคณะปฏิวัติเข้ามาปกครองประเทศคำสั่งของคณะปฏิวัติก็ถือว่าเป็นกฎหมายได้ เพราะเขาเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในขณะนั้น
ถ้าเป็นการปกครองในระบบประชาธิปไตย ซึ่งถือว่าอำนาจสูงสุดหรืออำนาจอธิปไตยมาจากประชาชน มีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็น อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการและประชาชนก็ใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านทางสภา ดังนั้นกฎหมายที่ออกมาจากสภานิติบัญญัติก็ถือว่าเป็นกฎหมายที่ออกมาจากผู้มีอำนาจสูงสุดของประเทศ ก็คือประชาชนเช่นเดียวกัน
3) กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้ทั่วไป
กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้ทั่วไปนั้น หมายความว่ากฎหมายเมื่อประกาศใช้แล้วจะใชับังคับได้ทั่วไป ไม่เฉพาะเจาะจงเพื่อประโยชน์ของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกำหนดให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งต้องปฏิบัติตามเท่านั้น แต่กฎหมายจะใช้บังคับแก่บุคคลทุกคนเสมอภาค บุคคลทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายโดยเท่าเทียมกัน
4) กฎหมายเป็นคำสั่งหรือข้อบังคับที่ใช้ได้เสมอไป
คำว่าใช้บังคับได้เสมอไปนั้น หมายถึง เมื่อกฎหมายได้ประกาศใช้ออกมาแล้วก็จะใช้ได้ตลอดไปจนกว่ามีการยกเลิกกฎหมายนั้น ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตามหรือกฎหมายฉบับใดเมื่อประกาศใช้มาแล้ว อาจจะไม่มีการนำมาใช้บังคับเป็นเวลานานหรือแม้จะไม่มีกรณีที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายนั้นๆ เกิดขึ้นก็ตาม ก็ถือว่ากฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับอยู่
5) กฎหมายจะต้องมีสภาพบังคับ
เพื่อให้บุคคลปฏิบัติตามกฎหมาย ก็จำเป็นที่จะต้องมีสภาพบังคับ ถ้ากฎหมายไม่มีสภาพบังคับประชาชนก็อาจจะไม่เกรงกลัวและไม่ปฏิบัติตาม แต่ถ้าเกิดมีผลร้ายหรือมีการลงโทษก็อาจจะทำให้มีการเกรงกลัวต่อกฎหมายนั้น และในที่สุดก็ต้องปฏิบัติตามแต่คำว่าสภาพบังคับนั้นก็จะมีอยู่หลายประการด้วยกัน ทั้งในทางอาญาและในทางแพ่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น